-=Jfk=- Cyber Clinic

ครรภ์เป็นพิษ
Toxemia Of Pregnancy
(Pregnancy Induced Hypertention)

ครรภ์เป็นพิษ หรือ ภาวะความดันโลหิตสูง ที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยพอสมควรในคนที่ตั้งครรภ์ มีความรุนแรงในระดับต่างๆกัน
สาเหตุ
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด เดิมเชื่อว่าเกิดจากมี สารพิษเกิดขึ้นในกระแสเลือด ขณะมีการตั้งครรภ์ แต่จนกระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีใครพบสารพิษดังกล่าว ปัจจุบันจึงมักเปลี่ยนมาเรียกเป็น ความดันโลหิตสูง ที่ชักนำให้เกิดโดยการตั้งครรภ์ (Pregnancy Induced Hypertention (PIH)) โดยพบว่า มีความสัมพันธ์ กับ การหดตัวของหลอดเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น( Increase Vascular Tone) และ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับการทำงานของ โพรสตาแกรนดิน (Prostaglandin)ในร่างกาย
อุบัติการ
พบได้ประมาณ 5% ของการคลอดทั้งหมด โดยพบได้บ่อยที่ในครรภ์แรก มากกว่าครรภ์หลังๆ และการเกิดในครรภ์นี้ จะไม่เพิ่มโอกาส ในการจะเกิดซ้ำในท้องต่อไป พบได้ ตั้งแต่ อายุครรภ์ 20 สัปดาห์(ห้าเดือน)เป็นต้นไป แต่พบบ่อยในคนท้องในระยะช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์( อายุครรภ์หกเดือนถึงเก้าเดือน) ไปจนกระทั่งคลอด
ปัจจัยเสี่ยง
พบว่า มีแนวโน้มว่าจะมีความสัมพันธ์ กับประวัติการเกิดของคนในครอบครัว แต่ ยังไม่ทราบลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ชัดเจน บางครั้งอาจจะพบร่วมกับโรคบางอย่างได้บ่อย เช่น

  • ครรภ์ไข่ปลาอุก(Molar Pregnancy)

  • ทารกตายในครรภ์จากโรคเลือด (Hydrop Fetalis)

  • ครรภ์แฝด(Multiple Pregnancy)

  • หญิงมีครรภ์ที่เป็นเบาหวาน

  • การแบ่งระยะของโรคตามความรุนแรง และการรักษา
    1.Pre-Eclampsia (ระยะที่ยังไม่มีอาการชัก) แบ่งย่อยออกเป็น
    ---Potential Pre-Eclampsia เป็นระยะเริ่มต้น ยังไม่รุนแรงนัก ความดันโลหิต จะยังไม่สูงผิดปกติ จะพบแค่ไข่ขาว(Albumin) หลุดออกมาในปัสสาวะเล็กน้อย เนื่องจากไต ไม่สามารถ ดึงไข่ขาวกลับเข้าไปในเลือดได้ตามปกติ ทำให้มีการเสียไข่ขาวออกจากร่างกายไปเรื่อยๆ ถ้าเสียออกมามาก จะทำให้ระดับของไข่ขาว( Albumin) ในกระแสเลือดลดลง ทำให้มีอาการบวมตามร่างกาย เนื่องจาก Albumin นี้มีหน้าที่อุ้มน้ำเข้าไว้ในกระแสเลือด พอเสียไปมากๆ จะทำให้น้ำจากกระแสเลือด รั่วออกไป ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวม ได้ เหมือนกับคนไข้โรคไต (Nephrotic Syndrome) ที่ การบวมก็เกิดจากการรั่วของไข่ขาว ออกมาทางไตด้วยเช่นกัน
    การบวม ที่เห็นได้ชัด จะพบแถว หน้าแข้งก่อนที่อื่น


    สังเกตุการบวมที่หน้าแข้งเมื่อกดลงไปปล่อยมือแล้วจะเป็นรอยบุ๋มชัดเจน

    ต่อมาก็จะมาบวมที่ หนังตา, แขนขา และใบหน้า และลำตัวทั่วๆไป ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ
    การรักษา
    การรักษาระยะนี้ ยังคงให้ผู้ป่วย พักผ่อนอยู่ที่บ้านได้ แนะนำให้นอนตะแคง ข้างแทนการนอนหงาย เพราะว่ามดลูกและเด็กจะลดการกดทับเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง ทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและเด็กได้ดีขึ้น (โรคนี้เส้นเลือดต่างๆจะมีการหดตัวทำให้เลือดที่ไปยังรกและอวัยวะภายในต่างๆ ลดน้อยลง ถ้าน้อยมากอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กด้วย) รวมทั้งทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้มากขี้น ทำให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
    แนะนำให้งดอาหารเค็ม และหลีกเลี่ยงการใช้ยาขับปัสสาวะ (เนื่องจาก ภาวะนี้ต่างจากการบวมจากโรคอื่น เนื่องจากในโรคนี้ แม้ว่าจะบวม แต่ น้ำในกระแสเลือดจะน้อย อยู่แล้ว) และต้อง เข้ามารับการตรวจร่างกาย โดยแพทย์ ทุก หนึ่งถึง สองสัปดาห์ หรือเมื่อพบความผิดปกติเพิ่มเติม
    ---Mild Pre-Eclampsia จะรุนแรงขึ้นไปอีกระดับ จะเริ่มพบความดันโลหิตสูงขึ้น โดยค่าความดันตัวบน หรือ ความดันขณะหัวใจบีบตัว (Systolic Pressure) อยู่ในช่วง 140-160) และค่าความดันตัวล่างหรือ ความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic Pressure) อยู่ในช่วง 90-110 อาการบวมจะรุนแรงเพิ่มขึ้น พบไข่ขาวในปัสสาวะมากขึ้น( อยู่ในระดับ +2) นน.ตัวเพิ่มมากขึ้น
    การรักษา
    ระยะนี้ อาจจะให้คนไข้นอนรักษาเฝ้าดูอาการ ไว้ในโรงพยาบาล เพื่อการดูแลใกล้ชิด ถ้าอายุครรภ์ ครบ 38 สัปดาห์ จะให้พิจารณา ให้คลอด เลยโดยถ้าปากมดลูกสุกนุ่มมากพอ อาจจะให้คลอดปกติ โดยการใช้ยาเร่งคลอด ร่วมกับการเจาะถุงน้ำคร่ำ แต่ถ้าดูว่าจะมีปัญหาคลอดยาก ก็อาจจะใช้การผ่าตัดทำคลอด ออกทางหน้าท้อง หรือแม้อายุครรภ์ จะยังไม่ครบ 38 สัปดาห์ แต่ถ้าตรวจดูแล้วพบว่า ทารกในครรภ์มีสุขภาพแย่ลง (Fetal Distress) อันเนื่องมาจากรกเสื่อมสภาพ ก็จะต้องทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดเช่นกัน
    ---Severe Pre-Eclampsia เป็นระดับที่รุนแรง เพิ่มขึ้น โดยจะพบสิ่งผิดปกติ ดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้นมา

  • ความดันโลหิตสูงมากขี้นไปอีกคือความดันขณะหัวใจบีบตัว (ค่าตัวบน) สูงกว่า 160 mm hg หรือ ความดันขณะหัวใจคลายตัว (ค่าตัวล่าง) สูงกว่า 110 mm hg

  • ปัสสาวะมีไข่ขาวในระดับสูงขึ้น (ประมาณ + (3-4)

  • ปัสสาวะ ออกน้อยลง (น้อยกว่า 400 cc / 24 ชั่วโมง )

  • ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัวไปจนกระทั่งมองไม่เห็นเลย

  • การปวดจุกยอดอกแถวใต้ลิ้นปี่ แน่หน้าอก

  • มีน้ำท่วมปอด (Pulmonary Edema)หายใจเหนื่อยหอบมาก

  • การรักษา
    รายที่รุนแรงระดับนี้ แพทย์จะต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ให้ยาลดความดันโลหิต ที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและอาจจะต้องให้ยา Mg So4 เพื่อป้องกันการชัก
    ถ้าอายุครรภ์ของเด็ก ครบ37 สัปดาห์แล้ว จะให้คลอดได้เลยด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น
    แต่ถ้าอายุครรภ์ ยังไม่ครบ 37 สัปดาห์ หลังจากควบคุมความดัน และให้ยาป้องกันชักแล้ว อาการดีขึ้น แพทย์อาจจะปล่อยให้นอนในโรงพยาบาลให้พักผ่อนและตั้งครรภ์ต่อไปจนครบ 37 สัปดาห์ จึงปล่อยคลอด แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้น หรือ มีข้อบ่งชี้ว่ารกเสื่อมสภาพเด็กเริ่มผิดปกติ จะต้องรีบให้คลอดโดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์

    2.Eclamsia เป็นระยะที่รุนแรงที่สุด โดยจะดำเนินต่อจากระยะ Pre Eclampsia ขึ้นมาแล้วมีการชักเกิดขึ้น
    การรักษา
    แพทย์จะให้ยาระงับให้หยุดชักแล้ว ควบคุมความดันโลหิตให้ ดีขึ้น แล้วถือเป็นข้อบ่งชี้สมบูรณ์ที่จะต้องทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงทันที จะด้วยวิธี คลอดธรรมดา หรือผ่าคลอดก็ได้ ที่คิดว่าจะเร็วที่สุด โดยไม่คำนึงว่าเด็กจะแข็งแรงหรือไม่ ถือเป็นการทำเพื่อช่วยชีวิตแม่ ก่อน และ ช่วยลูกเป็นอันดับรอง ลงไปแต่ปัจจุบันถ้าได้รับการดูแลที่ดีแล้ว มักจะไม่ค่อยมีการชัก
    หมายเหตุ
    หลังจากการคลอด แล้ว ยังคงต้องเฝ้าดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดไปอีกประมาณ 24-48 ชม เพราะว่าอาการอาจจะรุนแรงต่อมาได้รวมทั้งอาจจะยังชักซ้ำได้ แต่โดยทั่วไปหลังจากเด็กออกมาแล้ว อาการต่างๆ จะค่อยๆดีขึ้น คือ โอกาสชักน้อยลง ความดันลดต่ำลง ปัสสาวะออกมาขึ้น ยุบบวมลง
    ข้อสังเกตุ
    นอกจากภาวะ ความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้น ในระยะตั้งครรภ์ PIH นี้แล้ว ยังมีคนไข้ที่เป็นโรคความดันสูงอยู่ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ (พบน้อยกว่า PIH)ซึ่งก้อ สร้างปัญหา ให้ขณะคลอดได้เช่นกัน

    มีปัญหาเพิ่มเติม เมลล์มาคุยกันได้ ครับ

    jfk@2jfk.com

    Back to -=Jfk=- Cyber Clinic

    www.2jfk.com